คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 1

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 10 ประการ ประการสำคัญที่สุด คือ การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทำไมปวงชนชาวไทยจะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั่นก็เพราะว่า

หากเราไม่มีชาติ ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ไม่มีวัฒนธรรม ภาษา เป็นของตนเอง เราก็ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นชนชาติไหน

หากเราไม่มีศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ทุกคนทำความดี สังคมย่อมเกิดความเสื่อมทราม

หากเราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ประเทศชาติย่อมขาดความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ดังนั้น ปวงชนชาวไทย จึงมีหน้าที่รักษาชาติให้มีเสถียรภาพ มีเอกภาพ รักษาศาสนาด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม คำสอน รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการรักษาเทิดทูนสถาบันและ องค์พระมหากษัตริย์ไว้ด้วยชีวิต ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริต เลือกคนดีมาปกครองบ้านเมือง พิทักษ์รักษาสถาบันหลักทั้ง 3 นี้ จะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของสังคม

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 2

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย นอกจากจะต้องพิทักษ์รักษาสถาบันชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ คนไทยทุกคนต้องป้องกันประเทศ มิให้ใคร ผู้ใดมาทำร้าย หรือทำลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายจากสถานการณ์การเมือง จากระบบเศรษฐกิจ หรือจากปัญหาสังคม คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องร่วมกันเสียสละทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แก้ไขปัญหาของสังคม ของประเทศชาติ ด้วยการร่วมแสดงความคิดเห็น ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชน ร่วมคัดค้าน ตรวจสอบ หากมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม ร่วมส่งเสริมสนับสนุนแนวทางดำเนินงานของรัฐที่มีประโยชน์ต่อสังคม ร่วมเสนอแนะและร่วมดำเนินการเพื่อให้ปัญหาของสังคมได้รับการแก้ไข

จึงถือเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคน ที่จะต้องมีจิตสาธารณะในการป้องกัน พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 3

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทย ข้อที่ 7


หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่ทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นั่นคือ การปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้อย่างกว้างๆ แต่ความหมายนั้นครอบคลุมถึงกฎหมายทุกประเภทที่ออกมาบังคับใช้ให้ทุกคน ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เช่น การให้ทุกคนต้องเคารพสัญญาณไฟจราจร เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อค เมื่อขับรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ ก็เพื่อให้บ้านเมืองสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่กำกับดูแลให้คนภายในรัฐมีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ขณะที่การตรากฎหมายทุกฉบับล้วนมีเป้าประสงค์เพื่อให้คนในสังคมได้รับสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ด้วยความชอบธรรม ในฐานะปวงชนชาวไทยจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่มีการละเมิดสิทธิหรือกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

คำอธิบายเพิมเติ่ม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 4

การศึกษาถือเป็นรากฐานของการพัฒนาคนในประเทศ หากคนมีความรู้ มีการศึกษา ย่อมไม่เป็นภาระของสังคม ย่อมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนด้วยการจัดให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล และต้องจัดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาตามความต้องการ ความชอบ ความถนัด โดยอาจตั้งกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้เด็กทุกคนมีโอกาสในการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ในฐานะคนไทยทุกคนที่มีบุตรหลานวัยเยาว์ มีหน้าที่ต้องนำบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในการศึกษาภาคบังคับ ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน (อายุ 3 ปีบริบูรณ์) จนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เป็นอย่างน้อย

คำอธิบายเพิมเติ่ม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 5

การรับใช้ชาติ โดยการรับราชการทหาร ถือเป็นหน้าที่สำคัญและมีเกียรติที่ชายไทยทุกคนได้รับในการทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคง ป้องกันประเทศเมื่อเกิดภัยสงคราม และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในชาติ เพื่อให้ประชาชนได้อยู่อย่างมีความสุข กินอิ่มนอนหลับอย่างไม่ต้องหวั่นเกรงอันตรายใด ๆ ชายไทยที่ผ่านการฝึกแบบทหารจะเป็นผู้มีความเสียสละ มีระเบียบวินัย เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีความสามัคคี และถูกฝึกให้มีชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยปกติสุข

ดังนั้น ชายที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปี มีหน้าที่ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่ออายุ 21 ปี ต้องไปรับการตรวจเลือกรับราชการทหาร หรือที่เรียกว่าการเกณฑ์ทหาร แต่หากยังเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเรียนก็สามารถขอผ่อนผันได้จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา หรือสามารถสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารเพื่อเป็นกองกำลังสำรองสำหรับเตรียมพร้อมรับใช้ชาติได้อีกทาง

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 6

การทำให้สังคมไทยมีความสงบสุขและเกิดสันติสุขได้ คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ยึดหลักประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตามกฎหมายและดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม รู้และเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ที่ตนเองพึงมี ด้วยการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

การตระหนักในสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่กระทำการใดที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี เกิดสังคมช่วยเหลือเกื้อกูล ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการวิกฤติการณ์ของประเทศที่มีประสิทธิภาพ และทำให้สังคมไทยได้รับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 7

ประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ เพราะการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยการยึดเสียงข้างมาก แต่ก็เคารพสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย เป็นที่มาของการเลือกผู้แทนประชาชน ไปทำหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

การเลือกตั้ง ถือเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงเจตนารมณ์และสิทธิของตน ในการเลือกผู้แทนที่ดีมีคุณภาพ ได้ใช้สิทธิของตน และเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองอีกประการหนึ่ง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องไปใช้สิทธิ เลือกคนดี มีความรู้ ความสามารถ เพื่อให้ได้ผู้แทนที่ดีเข้าไปบริหารและพัฒนาประเทศ และการทำหน้าที่นี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ โดยการใช้สิทธิอย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 8

หลายครั้งที่การดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐ ส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม จนนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม

ดังนั้น โครงการหรือกิจกรรมของรัฐที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุดและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในสังคม

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 9

ภาษี คือเงินที่เรียกเก็บจากประชาชน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศสามารถแบ่งเป็น ภาษีทางตรง ที่เรียกเก็บจากประชาชนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ และภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากประชาชนเมื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือที่เรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเหล่านี้ล้วนนำมาเป็นเงินงบประมาณในการพัฒนาประเทศ

ภาครัฐจำเป็นต้องนำภาษีที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการนำไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ส่งเสริมอาชีพ รายได้ ดูแลสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี คนชรา ผู้สูงอายุ เป็นต้น

คนไทยทุกคนจึงต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือรัฐ พลเมืองดีจึงไม่ควรที่จะหลบเลี่ยงภาษี เพราะเงินภาษี รัฐนำไปพัฒนาประเทศและย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อทุกคนเช่นกัน

คำอธิบายเพิ่มเติม หน้าที่ปวงชนชาวไทยข้อที่ 10

เมื่อกล่าวถึงการทุจริต การคอร์รัปชัน หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงล้วนเป็นการประพฤติมิชอบที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งซึ่งแสดงถึงการไม่ซื่อสัตย์สุจริต การทำความชั่วโดยเจตนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติให้เกิดความเสียหาย

รัฐธรรมนูญ จึงวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด เด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลที่มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงกำหนดมาตรการป้องกัน ตลอดจนกลไกต่างๆ เพื่อให้การบริหารและพัฒนาเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนปราศจากการทุจริต

จึงเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องคัดค้าน ต่อต้าน ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ